หากโรงงานไหนไม่มีการขออนุญาตเกี่ยวกับการกำจัดกากอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมจะไม่ต่อใบอนุญาตโรงงานให้ จะกลายเป็นโรงงานเถื่อน
กากอุตสาหกรรม คืออะไร อ่านได้ที่ มาทำความเข้าใจเกี่ยวกับ กากของเสียอุตสาหกรรม ตอนที่ 1
ในการกำจัดกากอุตสาหกรรมอย่างไรให้ถูกวิธี ถูกกฎหมาย ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
ตามกฎหมายเมื่อมีกากอุตสาหกรรมเกิดขึ้น สิ่งที่ทุกฝ่ายต้องดำเนินการหลัก ๆ มี 2 ข้อคือ
1.ต้องรายงาน
2.ต้องขออนุญาต
สำหรับผู้ก่อกำเนิด มีสิ่งที่ต้องดำเนินการอย่างแรกคือ ก่อนอื่นต้องทราบว่าโรงงานของเรามีกากอะไรบ้าง กากนั้นเป็นอันตรายหรือไม่ จากนั้นเราต้องศึกษาว่ากากนั้นมีรหัสประจำตัวอะไร เพราะเราต้องใช้รหัสพวกนี้กรอกในแบบฟอร์มการขออนุญาตโดยกากแต่ละชนิดจะมีรหัส 6 หลักแตกต่างกันไป เช่น 030105 คือขี้เลื่อยหรือเศษไม้ หรือ 150202 เศษผ้าหรือถุงมือปนเปื้อนน้ำมัน
ส่วนวิธีการกำจัดกากอุตสาหกรรมก็มีรหัสเช่นกันโดยกำหนดเป็นตัวเลขสามหลัก เช่น 041 คือใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทน (ถ้าอยากทราบว่ารหัสชนิดไหนกากอะไร หรือการกำจัดแบบไหนต้องใช้รหัสอะไร) สามารถดูหรือดาวน์โหลดได้ที่ www.diw.go.th หัวข้อ ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องการกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ.2548
เมื่อทราบรหัสกาก และ รหัสวิธีการกำจัดกากแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการทำรายงาน และขออนุญาตไปยังกรมโรงงานอุตสาหกรรม กรณีที่เราต้องการเก็บกากไว้เกิน 90 วัน จะต้องยื่น สก.1 หรือหากต้องการนำกากออกนอกโรงงานเพื่อไปกำจัด ให้ยื่น สก.2 และแจ้งข้อมูลการขนส่งทุกครั้งที่นำออก อย่าลืมทำ ใบกำกับการขนส่งของเสียอันตราย Manifest
ถ้าเป็นกากอันตราย ต้องเลือกผู้ขนส่งที่มีรหัส 13 หลัก และทำการแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนของเรา ในการขนส่งกากไปกำจัด ถ้าผู้ขนส่งที่เป็นตัวแทนของเราทำอะไรผิดพลาด เราซึ่งเป็นผู้แต่งตั้งต้องร่วมรับผิดชอบด้วย
สำหรับกากที่ไม่เป็นอันตราย โรงงานสามารถจ้างผู้ขนส่งรายไหนก็ได้ ที่เราเห็นว่ามีระบบการจัดการที่ได้มาตรฐานและมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม โดยไม่จำเป็นต้องมีรหัสประจำตัว 13 หลัก แต่อย่าลืมต้องขออนุญาตก่อน
กรณีที่เราจัดการของเสียภายในโรงงานเอง ก็ต้องขอความเห็นชอบจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมก่อน และทุกปีต้องส่งรายงานประจำปี โดยการยื่น สก.3 ภายในวันที่ 1 มีนาคม
สรุปว่าสิ่งที่ผู้ก่อกำเนิดต้องทำคือ
1.ต้องพิจารณาว่าโรงงานของเรามีกากอะไรบ้าง เป็นชนิดอันตรายหรือไม่อันตราย และมีปริมาณเท่าไหร่
2.ยื่นใบอนุญาตขอกำจัดกากเหล่านั้น
3.ทำรายงานประจำปี
ทั้งนี้การขอใบอนุญาต หรือ การทำรายงานนั้น สามารถทำได้ทั้งแบบยื่นเอกสารและแบบยื่นทางอินเตอร์เน็ต
สำหรับ WT ที่ขนส่งของเสียอันตราย นอกจากต้องมีรหัสประจำตัว 13 หลัก ก็ต้องมีใบ วอ.8 ด้วย
กรณีเกิดอุบัติเหตุระหว่างการขนส่ง ต้องส่งรายงานตามแบบกำกัดการขนส่ง 03 ภายใน 7 วัน นับจากวันที่เกิดอุบัติเหตุ
ส่วนผู้รับบำบัดและกำจัดกาก หากรับกำจัดของเสียอันตรายก็ต้องมีรหัสประจำตัว 13 หลัก และทุกปีต้องยื่น สก.5 เพื่อรายงานประจำปีด้วย
กรณีมีกากเกิดขึ้นจากการบำบัด กำจัด หรือการรีไซเคิล จะต้องแต่งตั้งตัวแทนรับกากไปกำจัดต่อ และทุกครั้งที่ร้บกากมาจัดการ ผู้รับบำบัดและกำจัดกากจะต้องทำ สก.6 เป็นบัญชีเพื่อแสดงการรับมอบกาก ในการบำบัดหรือกำจัดกากทุกครั้ง ผู้รับบำบัดและกำจัดกากจะต้องทำ สก.7 เป็นบัญชีเพื่อแสดงรายการกากที่ทำการบำบัด หรือกำจัดแล้ว
กรณีมีข้อขัดแย้งเกิดขึ้น เช่นรายการกากที่รับมาไม่ตรงกับที่ข้ออนุญาต จะต้องส่งรายงานแบบกำกับการขนส่ง 04 หรือหากได้รับกากอันตรายที่ไม่มีใบอนุญาตนำออกนอกโรงงานหรือ สก.2 ผู้รับบำบัดและกำจัดกากจะต้องส่งรายงานตามแบบกำกับการขนส่ง 05
กรณีที่เป็นโรงงานทำเชื้อเพลิงผสมหรือวัตถุดิบทดแทน จะต้องส่ง สก.8
ส่วนโรงเตาเผาที่รับเชื้อเพลิงผสมหรือรับวัตถุดิบทดแทน จะต้องส่ง สก.9
จะเห็นว่าทุกขั้นตอน จะต้องมีการขออนุญาตและต้องยื่นแบบกำกับการขนส่งทุกครั้ง