การติดฉลากบนภาชนะหรือบรรจุภัณฑ์ของวัตถุอันตราย
วัตถุอันตรายมักถูกเก็บกักและขนส่งในปริมาณมาก ๆ การรั่วไหลโดยอุบัติเหตุของวัตุอันตรายเหล่านี้ทำให้เกิดอันตรายต่อสาธารณชนและสิ่งแวดล้อม เหตุการณ์ดังกล่าวอาจสามารถจัดการได้อย่างรวดเร็วเมื่อสามารถบ่งชี้และบอกลักษณะของวัตถุอันตรายได้
การติดฉลากบนภาชนะหรือบรรจุภัณฑ์ของวัตถุอันตราย ต้องประกอบด้วย ชื่อทางการค้า และหมายเลขสหประชาชาติ ซึ่งมีอักษร UN นำหน้า (UN number) โดยข้อมูลจะต้องอ่านง่าย ติดบริเวณที่เห็นชัดเจนไม่หลุดง่าย สีตัวอักษรของเครื่องหมายต้องแตกต่างกับสีพื้นผิวภาชนะ และต้องไม่ติดทับข้อมูลอื่นของวัตถุอันตราย ดังภาพ
บนภาชนะต้องติดฉลากแสดงความเสี่ยงหลัก และ/หรือความเสี่ยงรอง ซึ่งแสดงความเป็นอันตรายของวัตถุที่บรรจุอยู่ภายใน โดยฉลากจะต้องเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่ทำมุม 45 องศา มีขนาดด้านละ 100 มิลลิเมตร มีเส้นขนาด 5 มิลลิเมตร สีเดียวกับสัญลักษณ์ในฉลากขนานกับกรอบฉลาก
สำหรับบรรจุภัณฑ์แบบ IBCs ที่มีความจุมากกว่า 450 ลิตร จะต้องติดฉลาก 2 ด้านที่ตรงข้ามกัน การติดฉลากแสดงความเสี่ยงหลักและฉลากแสดงความเสี่ยงรองให้ติดแนวเดียวกัน โดยความเสี่ยงหลักอยู่ซ้ายมือต่อด้วยความเสี่ยงรอง (อยู่ด้านขวามือ)
เครื่องหมายและป้ายบนยานพาหนะ
ยานพาหนะที่ใช้ขนส่งวัตถุอันตรายทุกชนิดต้องติดป้าย ซึ่งแสดงความเป็นอันตรายของวัตถุที่ขนส่งอย่างน้อย 2 ด้าน ของยานพาหนะ โดยกรมการขนส่งทางบกได้นำข้อเสนอแนะของสหประชาชาติ เกี่ยวกับการติดป้ายวัตถุอันตรายมาใช้ ได้กำหนดให้ป้ายจะต้องเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่ทำมุม 45 องศา มีขนาดด้านละไม่น้อยกว่า 250 มิลลิเมตร มีเส้นขนาด 12.5 มิลลิเมตร สีเดียวกับสัญลักษณ์ในป้ายขนานกับกรอบป้าย ตัวเลขแสดงประเภทหรือหมวดต้องมีขนาดความสูงไม่น้อยกว่า 25 มิลลิเมตร และต้องมีหมายเลขสหประชาชาติ ขนาดความสูงไม่น้อยกว่า 65 มิลลิเมตร สีดำเขียนบนป้ายสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีส้ม ขนาดความสูงไม่น้อยกว่า 120 มิลลิเมตร และกว้าง 300 มิลลิเมตร มีขอบขนาด 10 มิลลิเมตร ติดไว้ใกล้กับป้ายแสดงอันตราย ดังภาพ
ในบางครั้งอาจต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญและแปลความหมายในการอ่านฉลาก แต่เราก็ควรรู้ไว้ จะได้พิจารณาอย่างคร่าวๆ ด้วยนะคะ งั้นมาทบทวนความหมายของฉลากชี้บ่งประเภทวัตถุอันตราย 9 ประเภท กันค่ะ