วันนี้แอดมิน หยิบมาฝากจากราชกิจจานุเบกษา กระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกกฎหมายฉบับใหม่ กำหนดให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานต้องแจ้งข้อมูลที่จำเป็นเกี่ยวกับสารมลพิษหรือสารเคมีในการประกอบกิจการโรงงาน เพื่อประโยชน์ในการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม กำกับดูแลและติดตามผลการดำเนินการที่เกี่ยวข้องของโรงงานให้เป็นไปตามกฎหมาย อีกไม่นานจะมีประกาศกระทรวงที่ออกตามมา ลองเข้าไปทดลองกรอกรายละเอียดที่เวบไซต์ดูนะคะ http://www2.diw.go.th/prtr/Home.aspx หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถาม หรือเสนอแนะได้ที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้เลยจ้า
“แนวคิดในการจัดทำ Pollutant Release and Transfer Registers : PRTR เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศสหรัฐอเมริกา หลังจากเกิดเหตุการณ์ระเบิดขึ้นที่โรงงานยูเนี่ยนคาร์ไบด์ที่เมืองโบพาล ประเทศอินเดียเมื่อปี พ.ศ. 2527 และต่อมาได้เกิดเหตุสารเคมีรั่วไหลในรัฐเวสท์-เวอร์จิเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้คนงานและชุมชนที่มีโรงงานตั้งอยู่ใกล้เคียงต่างเรียกร้องให้โรงงานเปิดเผยข้อมูลการใช้สารเคมีอันตรายให้กับสาธารณชนได้รับทราบ”
- PRTR ต่างจากระบบการรายงานข้อมูลอื่นอย่างไร
ข้อมูล PRTR รายงานในหน่วยของ “ปริมาณ”ต่อระยะเวลา อาทิ กิโลกรัม/ปี ไม่กำหนดปริมาณขั้นต่ำ และ ไม่ใช่มาตรฐาน ซึ่งรายงานข้อมูลในหน่วยของความเข้มข้น ตัวอย่างเช่น มิลลิกรัม/ลิตร ในกรณีของมาตรฐานคุณภาพน้ำทิ้ง หรือ มิลลิกรัม/ลูกบาศก์เมตร ในกรณีของมาตรฐานการระบายอากาศเสีย เป็นการรายงานข้อมูลการปลดปล่อยมลพิษสู่ตัวกลางสิ่งแวดล้อมที่รองรับมลพิษนั้น คือ อากาศ ดิน น้ำ (แต่ไม่ได้บอกถึงระดับของการตกค้างของมลพิษนั้นในสิ่งแวดล้อม เนื่องจาก สารเคมีหรือมลพิษมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน บางประเภทอาจสลายตัวได้อย่างรวดเร็วหลังจากการปลดปล่อยและไม่มีการตกค้างในสิ่งแวดล้อม เป็นต้น) ข้อมูลดังกล่าวจะมีการเผยแพร่สู่สาธารณชนได้รับทราบ
- นิยามที่ควรรู้เกี่ยวกับทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ
“ทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ” (Pollutant Release and Transfer Registers: PRTR) หมายถึง ระบบฐานข้อมูลที่เผยแพร่สู่สาธารณชนเกี่ยวกับชนิดและปริมาณของมลพิษเป้าหมายที่มีการปลดปล่อยจากแหล่งกำเนิดเป้าหมายประเภทต่างๆ สู่ตัวกลางสิ่งแวดล้อมทั้งอากาศ ดิน น้ำ รวมถึงข้อมูลการนำน้ำเสียและของเสียออกจากแหล่งกำเนิดไปบำบัดหรือกำจัด
แหล่งกำเนิดมลพิษเป้าหมาย (target sources) หมายถึง แหล่งกำเนิดมลพิษที่ถูกกำหนดขึ้นภายใต้ระบบทำเนียบการปลดปล่อย และเคลื่อนย้ายมลพิษให้เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษเป้าหมายที่เข้าข่ายต้องรายงานข้อมูลการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษให้กับหน่วยงานราชการ และ แหล่งกำเนิดที่หน่วยงานราชการเป็นผู้รับผิดชอบในการคาดประมาณการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ
แหล่งกำเนิดมลพิษที่ต้องรายงาน ข้อมูลการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (PRTR) มี 9 ประเภท ดังนี้
- อุตสาหกรรมเคมีและปิโตรเคมี
- อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติก
- อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์เกี่ยวกับไฟฟ้า
- อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางและผลิตภัณฑ์ยาง
- อุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์
- อุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมัน
- อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์โลหะขั้นมูลฐานและผลิตภัณฑ์โลหะ
- กิจการเกี่ยวกับการจัดการของเสีย การบำบัดน้ำเสีย
- กิจการเกี่ยวกับการจัดการของเสีย รีไซเคิลน้ำมันใช้แล้ว
มลพิษเป้าหมาย (target substances/pollutants) หมายถึง รายชื่อสารเคมี กลุ่มสารเคมี หรือ มลพิษ ที่ถูกกำหนดขึ้นภายใต้ระบบทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ
สารเคมีหรือมลพิษภายใต้ระบบ PRTR จำแนกได้ 3 กลุ่ม
- สารเคมี เช่น benzene, toluene, formaldehyde
- กลุ่มสารเคมี เช่น ตะกั่วและสารประกอบตะกั่ว
- มลพิษ เช่น NOx, SOx
- สารเคมี/มลพิษนอกเหนือจากบัญชีที่ PRTR กำหนด ไม่ต้องมีการรายงานข้อมูล
การปลดปล่อย (release) หมายถึง การปล่อย ระบาย ทิ้ง หก รด รั่วไหล ของสารเคมี มลพิษ อากาศเสีย น้ำเสีย หรือ ของเสีย จากแหล่งกำเนิด ออกสู่สิ่งแวดล้อมทั้งโดยจงใจ หรือไม่จงใจ
การเคลื่อนย้าย (transfer) หมายถึง การนำน้ำเสียหรือของเสียที่มีมลพิษเป้าหมายเป็นองค์ประกอบ ออกจากแหล่งกำเนิดมลพิษเป้าหมาย ไปบำบัด หรือกำจัดยังสถานที่บำบัดหรือกำจัด
- ข้อมูลที่เผยแพร่มีอะไรบ้าง ข้อมูลที่เผยแพร่ประกอบด้วย
- รายชื่อของ สารเคมี, กลุ่มของสารเคมี และ/หรือ มลพิษอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องที่มีการปล่อย ระบาย ออกสู่สิ่งแวดล้อม หรือ การนำน้ำเสียหรือของเสียที่มีสารเคมีหรือมลพิษเป้าหมายออกจากจากโรงงานอุตสาหกรรมไปบำบัดหรือกำจัด
- ปริมาณ ของสารเคมี กลุ่มสารเคมี และ/หรือ มลพิษ (หน่วยเป็นน้ำหนัก เช่น กิโลกรัม ต่อระยะเวลาที่ปลดปล่อย เช่น กิโลกรัม/ปี)
- ชื่อตัวกลางสิ่งแวดล้อมที่รองรับมลพิษ (อากาศ น้ำ หรือ ดิน)
- ข้อมูลของแหล่งกำเนิด ที่มีการปลดปล่อยหรือเคลื่อนย้าย สารเคมี หรือ มลพิษ นั้น (ข้อมูลของแหล่งกำเนิด หมายถึง รายชื่อ ที่อยู่ ของแหล่งกำเนิด (โรงงาน) หรือ เฉพาะชื่อประเภทของแหล่งกำเนิด (เช่น อุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมพลาสติก บ้านเรือน การเกษตร ยานพาหนะ เป็นต้น) แล้วแต่ความเหมาะสม มีการรายงานตามรอบเวลา (ทุกปี)
- มีการเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะ เช่น ผ่านทางอินเตอร์เน็ต (interactive ) สิ่งพิมพ์ หรือ CD