ปัญหาฝุ่นขนาดเล็ก PM2.5 กลายเป็นมลพิษอากาศ (Air Pollution) ที่ก่อให้เกิดปัญหาระดับชาติไปเสียแล้ว การแก้ไขดูยากเสียเหลือเกิน กุมขมับแป๊บ!!! งั้นวันนี้แอดขอบรรยายลักษณะและโทษของฝุ่นเจ้าปัญหา ให้ฟังอีกครั้งหนึ่งว่าทำไมจะต้องตื่นตัว และ Part ต่อไป แอดจะนำเสนอเครื่องฟอกอากาศที่เหมาะสมกับพื้นที่ให้ทุกคนสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันนะคะ อย่าลืมติดตามชมกันค่ะ
ลักษณะของฝุ่น (Particulate Matter Characteristic)
ฝุ่น เป็นอนุภาคที่ฟุ้งกระจายในอากาศ เกิดจากการบด ตี ทุบ กระแทก หรือทำให้แตกด้วยความร้อนของสารอินทรีย์และสารอนินทรีย์ ฝุ่นเป็นอนุภาคที่มีขนาดตั้งแต่ 0.1 – 100 ไมครอน โดยทั่วไปมักนิยมแบ่งอนุภาคออกเป็น 3 ช่วงขนาด คือ ฝุ่นละอองแขวนลอยรวม (Total Suspended Particulate: TSP) มีขนาดเล็กกว่า 100 ไมครอน, ฝุ่นละอองที่สามารถเข้าถึงและสะสมในถุงลมของปอดได้ (Respirable dust) มีขนาดตั้งแต่ 10 ไมครอน (PM10) และฝุ่นละอองที่มีขนาดตั้งแต่ 2.5 ไมครอน (PM2.5) ลงไป
ลองนึกภาพถึงเส้นผมของคนเรา โดยเฉลี่ยผมจะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 70 ไมครอน ซึ่งใหญ่กว่าอนุภาคละเอียดมากกว่า 30 เท่า (US:EPA)
PM2.5 เป็นอนุภาคที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเล็กกว่า 2.5 ไมครอน มีแหล่งกำเนิดจาก ควันเสียของรถยนต์ โรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม ควันที่เกิดจากการหุงต้มอาหารโดยใช้ฟืน และนอกจากนี้ ก๊าซ SO2 NOx และ สาร VOC จะทำปฏิกิริยากับสารอื่นในอากาศทำให้เกิดฝุ่นละเอียดนี้ได้
ฝุ่นละอองที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ สามารถผ่านเข้าไปในปอด (Respirable-sized particles) จะสะสมจนทำให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพได้นั้น คือ ฝุ่นละอองที่มีขนาดตั้งแต่ 10 ไมครอน (PM10) ซึ่งปัญหาด้านสุขภาพนั้น จะขึ้นกับปัจจัย 4 ประการ แต่ละปัจจัยก็จะมีความสัมพันธ์กัน ได้แก่
- ชนิดของอนุภาคที่ได้รับ
- ระยะเวลาที่ได้รับ (ปี)
- ความเข้มข้นของอนุภาคในบรรยากาศ
- ขนาดของอนุภาคที่ได้รับ
ฝุ่นละอองขนาดเล็ก มีผลกระทบต่อสุขภาพเป็นอย่างมาก เมื่อหายใจเข้าไปในปอดจะเข้าไปอยู่ในระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง ในสหรัฐอเมริกาพบว่า ผู้ที่ได้รับฝุ่น PM10 ในระดับหนึ่งจะทำให้เกิดโรค Asthma และฝุ่น PM 2.5 ในบรรยากาศ จะมีความสัมพันธ์กับอัตราการเพิ่มของผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจและโรคปอดที่เข้ามารักษาที่ห้องฉุกเฉิน เพิ่มอาการของโรคทางเดินหายใจ ลดประสิทธิภาพการทำงานของปอด และเกี่ยวโยงกับการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร โดยเฉพาะผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคหืดหอบ และเด็กจะมีอัตราเสี่ยงสูงกว่าปกติด้วย จากการศึกษาพบว่าฝุ่นละอองในกรุงเทพมหานครมีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยโดยมีระดับความรุนแรงใกล้เคียงกับผลการศึกษาจากเมืองต่าง ๆ ทั่วโลก โดยระดับของฝุ่นละอองขนาดเล็กอาจทำให้คนในเขตกรุงเทพมหานคร ตายก่อนเวลาอันควร ถึง 4,000 – 5,000 ราย ในแต่ละปี นอกจากนี้ยังพบว่าการเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลมีความสัมพันธ์กับปริมาณฝุ่นขนาดเล็ก (นพภาพร และคณะ, 2547)
เหตุผลอีกอย่างหนึ่งคือ เนื้อเยื่อปอด มีคุณสมบัติดูดซึมได้ดี ปอดของคนเรามีพื้นที่ประมาณ 55-75 ตารางเมตร ในขณะที่ผิวหนังของคนมีพื้นที่ประมาณ 2 ตารางเมตร เมื่อมีฝุ่นละอองเข้าสู่ปอดแล้ว อาจเข้าสู่กระแสโลหิตหรืออาจจะติดค้างอยู่ที่ปอด ทำให้เกิดอันตรายบริเวณนั้น ฝุ่นละอองนอกจากเข้าสู่ร่างกายทางการหายใจแล้ว อาจเข้าสู่ร่างกายได้โดยการกินและดูดซึมทางผิวหนังได้อีกด้วย (ประมุข, 2529 – 2530)
ฟังดูแล้ว รู้สึกปอดเริ่มผิดปกติ (ด้วยความกังวล) ขึ้นมาทันที..เรามาหาทางป้องกันตัวเองกันต่อไปนะคะ…