โรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่มีการนำกรดซัลฟูริกมาใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็น ใช้ปรับสภาพความเป็นกรดด่างในกระบวนการผลิต ใช้ล้างทําความสะอาดชิ้นงาน ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสารประกอบเคมี ใช้เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา ใช้เป็นตัวสกัดแร่ และใช้เป็นสารอิเล็กโตรไลต์ Blog นี้ เรามาศึกษาความเป็นอันตรายของกรดซัลฟูริก เพื่อสามารถใช้งานอย่างถูกต้องและปลอดภัยและถูกกฎหมายด้วยจ้า
กรดซัลฟูริกมีสถานะเป็นของเหลวที่อุณหภูมิห้อง มีลักษณะเหลวข้นใส เป็นสารออกซิไดซ์ที่ดีมีฤทธิ์เป็นกรดแก่ และทําให้เกิดการกัดกร่อนได้มาก โดยทั่วไปมักเรียกว่ากรดกํามะถัน
- CAS Number: 7664-93-9
- ปกติมีจุดหลอมเหลวราว 4
- มีจุดวาบไฟ น้อยกว่าหรือเท่ากับ 60 °C
- ความเป็นพิษจากกรดซัลฟูริก เมื่อสัมผัสถูกผิวหนังโดยตรง จะทําให้ผิวหนังไหม้ เกิดการระคายเคืองอย่างรุนแรง ปวดแสบปวดร้อน เกิดเป็นแผลพุพองได้ เมื่อสัมผัสถูกดวงตา จะทําให้ดวงตาระคายเคือง ตาพร่ามัว ตาแดงจนถึงน้ำตาไหล กรอกตาไม่สะดวก กระจกตาเสียหาย อาจถึงขั้นตาบอดได้ เมื่อสูดดมไอของกรดซัลฟูริกจะทําให้เกิดการระคายเคืองระบบทางเดินหายใจอย่างรุนแรง ทําความเสียหายต่อเนื้อเยื่อเมือก อาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้เมื่อกลืนกินกรดซัลฟูริกเข้าไป จะทําให้เกิดการไหม้ของเนื้อเยื่อระบบทางเดินอาหาร อาจหมดสติและเสียชีวิตได้
ความเข้มข้นโดยน้ำหนักของกรดซัลฟูริกแบ่งตามข้อมูลการระงับเหตุฉุกเฉิน (Emergency response guide, ERG) ออกเป็น 2 ระดับ คือ
- กรดซัลฟูริก ความเข้มข้นมากกว่า 51 % w/w มีชื่อเรียกว่า สาร-ทําปฏิกิริยากับน้ำ-กัดกร่อน มี UN no. 1830 มี ERG Guide no. 137 โดยมีอันตรายที่อาจเกิดขึ้นด้านอัคคีภัยหรือการระเบิด ได้แก่ อาจทําให้วัตถุบางชนิด เช่น ไม้ กระดาษ ผ้า และน้ำมัน เป็นต้น เกิดการลุกติดไฟได้อาจทําปฏิกิริยากับน้ำจนเกิดปฏิกิริยารุนแรงได้ อาจเกิดก๊าซไฮโดรเจนซึ่งเป็นก๊าซไวไฟเมื่อไปสัมผัสกับโลหะ รวมทั้งมีอันตรายที่อาจเกิดขึ้นด้านสุขภาพหรือสิ่งแวดล้อม ได้แก่ อาจเป็นพิษ และ/หรือ กัดกร่อน หากได้รับไอระเหยของกรดซัลฟูริกโดยทางการหายใจ การกิน การสัมผัส จนถึงอาจทําให้เกิดการบาดเจ็บอย่างรุนแรง แผลไหม้ หรือเสียชีวิตได้ รวมถึงอาจเกิดความร้อนสูง และไอกรดซัลฟูริกในอากาศมีความเข้มข้นสูงขึ้น หากทําปฏิกิริยากับน้ำ
- กรดซัลฟูริก ความเข้มข้นไม่มากกว่า 51 % w/w มีชื่อเรียกว่า สาร-เป็นพิษ และ/หรือ-กัดกร่อน (ไม่ติดไฟ/น้ำ-ไวต่อการกระตุ้นด้วยน้ำ) มี UN no. 2796 มี ERG Guide no. 157 โดยมีอันตรายที่อาจเกิดขึ้นด้านอัคคีภัยหรือการระเบิด ได้แก่ อาจทําให้เกิดไอสารมีฤทธิ์กัดกร่อน และเป็นพิษ หากได้รับความร้อนจนเกิดไอสารมากขึ้น แม้ว่าตัวสารเองจะไม่ลุกไหม้ ไม่ติดไฟก็ตาม อาจเกิดการสะสมไอสารตามจุดที่การระบายอากาศไม่เพียงพอได้ อาจทําปฏิกิริยากับน้ำ กระทั่งเกิดปฏิกิริยาที่รุนแรงและอันตรายได้ อาจเกิดก๊าซไวไฟ คือ ก๊าซไฮโดรเจนได้ หากกรดซัลฟูริกไปสัมผัสกับโลหะจนเกิดปฏิกิริยาขึ้น รวมทั้งมีอันตรายที่อาจเกิดขึ้นด้านสุขภาพหรือสิ่งแวดล้อม ได้แก่ อาจเป็นพิษต่อการหายใจ การกิน การสัมผัสโดนผิวหนังหรืออวัยวะในร่างกาย ส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บรุนแรง แผลไหม้ หรือเสียชีวิตได้ อาจเกิดไอกรดซัลฟูริกในอากาศมีความเข้มข้นสูงมากขึ้น เมื่อได้ทําปฎิกิริยากับน้ำหรือความชื้นในอากาศ อาจเกิดก๊าซพิษที่มีฤทธิ์ระคายเคืองและกัดกร่อนได้ เมื่อได้รับความร้อน
ความเข้มข้นโดยน้ำหนักของกรดซัลฟูริกแบ่งตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย พ.ศ. 2556 ออกตามความในพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 กําหนดให้กรดซัลฟูริกที่มี ความเข้มข้นมากกว่า 50 % w/w เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 การผลิต การนําเข้า การส่งออก การมีไว้ในครอบครอง ต้องได้รับอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมก่อนดําเนินการ ดังกล่าว
อ้างอิง :
- กรมควบคุมมลพิษ (2551) กรดกํามะถัน Sulfuric acid พ.ศ. 2551
- กรมโรงงานอุตสาหกรรม (2553) คู่มือการจัดการสารเคมีอันตรายสูง พ.ศ. 2553