บทบาทหน้าที่และความสำคัญของผู้ควบคุมมลพิษ
บทบาทหน้าที่และความสำคัญของผู้ควบคุมมลพิษ
ผู้ควบคุมมลพิษคงเป็นตำแหน่งงานที่ใครหลายคนไม่เคยได้ยินมาก่อน ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ตำแหน่งงานนี้ถือเป็นตำแหน่งสำคัญที่ช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมปลดปล่อยของเสียและมลพิษต่าง ๆ ออกมาสู่สิ่งแวดล้อมได้น้อยลง และมีกฎหมายบังคับให้ภาคอุตสาหกรรมที่อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดจำเป็นต้องจัดเตรียมบุคลากรในตำแหน่งนี้เอาไว้ให้พร้อม โดยบุคลากรด้านสิ่งแวดล้อมประจำโรงงานนั้น หมายความถึงผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ทำหน้าที่รับผิดชอบ และดำเนินการเกี่ยวกับระบบป้องกันสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษของโรงงาน โดยแบ่งเป็นประเภทของงานควบคุมมลพิษได้ดังนี้
- ผู้จัดการสิ่งแวดล้อม
- ผู้ควบคุมระบบบำบัดมลพิษน้ำ
- ผู้ควบคุมระบบบำบัดมลพิษอากาศ
- ผู้ควบคุมระบบการจัดการมลพิษกากอุตสาหกรรม
ซึ่งแต่ละตำแหน่งงานก็จะมีรายละเอียดการปฏิบัติงาน และมีภาคอุตสาหกรรมที่จะต้องจัดเตรียมผู้ควบคุมมลพิษในตำแหน่งงานต่าง ๆ ดังนี้
ลำดับที่ | ประเภทของโรงงาน | ประเภทของผู้ควบคุมมลพิษ |
1 | โรงงานที่มีน้ำเสียปนเปื้อนสารอินทรีย์ ที่มีปริมาณน้ำเสียตั้งแต่ 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน (ยกเว้นน้ำหล่อเย็น) หรือมีปริมาณความสกปรกก่อนการบำบัด (ค่า BOD เทียบกับอัตราการไหลของน้ำเสีย ตั้งแต่ 100 กิโลกรัม ต่อวันขึ้นไป | ผู้จัดการสิ่งแวดล้อมผู้ควบคุมระบบบำบัดมลพิษน้ำผู้ปฏิบัติงานประจำระบบป้องกันสิ่งแวดล้อมเป็นพิษผู้ควบคุมระบบบำบัดมลพิษอากาศ (เพิ่มเติมเฉพาะโรงงานที่ก่อให้เกิดมลพิษอากาศ) |
2 | โรงงานที่ใช้สารหรือองค์ประกอบของสารโลหะ และสารพิษต่าง ๆ ในกระบวนการผลิต และมีปริมาณน้ำเสียตั้งแต่ 50 ลูกบาศก์เมตร ต่อวันขึ้นไป ตัวอย่างเช่นสังกะสี แคดเมียม ไซยาไนด์ ฟอสฟอรัสในรูปของสารประกอบอินทรีย์ ตะกั่ว ทองแดง บาเรียม เซเลเนียม นิเกิล แมงกานีส โครเมียม วาเลนซี สารหนู และปรอท | ผู้จัดการสิ่งแวดล้อมผู้ควบคุมระบบบำบัดมลพิษน้ำผู้ควบคุมระบบการจัดการมลพิษกากอุตสาหกรรมผู้ปฏิบัติงานประจำระบบป้องกันสิ่งแวดล้อมเป็นพิษผู้ควบคุมระบบบำบัดมลพิษอากาศ (เพิ่มเติมเฉพาะโรงงานที่ก่อให้เกิดมลพิษอากาศ) |
3 | โรงงานที่ก่อให้เกิดมลพิษสูง ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังความร้อนที่มีกำลังผลิตกระแสไฟฟ้าตั้งแต่ 10 เมกกะวัตต์ขึ้นไปโรงงานอุตสาหกรรมปิโตรเคมีทุกประเภทที่มีกำลังการผลิตตั้งแต่ 100 ตันต่อวันขึ้นไปโรงงานอุตสาหกรรมผลิตสารเคมีที่ใช้ป้องกันหรือกำจัดศัตรูพืชหรือสัตว์โรงงานอุตสาหกรรมผลิตปุ๋ยเคมีโรงงานปรับคุณภาพของเสีย และสิ่งปฏิกูล หรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วโรงงานอุตสาหกรรมประกอบกิจการเกี่ยวกับน้ำตาล ไม่ว่าจะเป็นน้ำตาลทราย กลูโคส เดกซ์โทรส ฟรักโทส หรือผลิตภัณฑ์ที่คล้ายคลึงกันที่มีกำลังผลิตตั้งแต่ 20 ตันต่อวันขึ้นไปโรงงานจัดการกากของเสียและวัตถุอันตรายทุกขนาดโรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับเหล็กและเหล็กกล้า ประเภทต่าง ๆโรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการผลิตปูนซีเมนต์ทุกขนาดโรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการถลุงแร่หรือหลอมโลหะที่มีกำลังผลิตตั้งแต่ 50 ตันต่อวันขึ้นไปโรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการผลิตเยื่อกระดาษ ตั้งแต่ 50 ตันต่อวันขึ้นไป | ผู้จัดการสิ่งแวดล้อมผู้ควบคุมระบบบำบัดมลพิษน้ำผู้ควบคุมระบบบำบัดมลพิษอากาศผู้ควบคุมระบบการจัดการมลพิษกากอุตสาหกรรมผู้ปฏิบัติงานประจำระบบป้องกันสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ หมายเหตุ สามารถพิจารณาการยกเว้นไม่ต้องมีผู้ควบคุมระบบบำบัดมลพิษน้ำ อากาศ หรือผู้ควบคุมระบบการจัดการมลพิษ กากอุตสาหกรรม ได้หากโรงงานไม่ก่อให้เกิดมลพิษน้ำ อากาศ หรือกากอุตสาหกรรม |
หน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ควบคุมมลพิษประเภทต่าง ๆ
- ผู้จัดการสิ่งแวดล้อม เป็นผู้ควบคุมมลพิษที่มีหน้าที่
- บริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมทั้งหมดของโรงงาน
- จัดเตรียมแผนการปฏิบัติงานด้านสิ่งแวดล้อม และคู่มือสำหรับจัดการสิ่งแวดล้อมของโรงงาน
- เตรียมพร้อมให้เจ้าหน้าที่ของกรมโรงงานตรวจสอบโรงงานได้ตลอดเวลา
- เป็นผู้รับรองรายงานจากผู้ควบคุมมลพิษด้านน้ำ อากาศ หรือกากพิษอุตสาหกรรม
- พิจารณาจัดการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบป้องกันสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษของโรงงาน
- จัดทำแผนปฏิบัติการในกรณีฉุกเฉิน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดมลพิษที่สามารถแพร่กระจายไปสู่สิ่งแวดล้อม ควบคุมการดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยเร็ว เป็นผู้รับผิดชอบแจ้งเหตุฉุกเฉินกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมทันที โดยรายงานจะต้องระบุถึงปัญหาในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งรวมถึงสาเหตุ วิธีการแก้ไข และผลการดำเนินงาน
- ผู้ควบคุมระบบบำบัดมลพิษน้ำ อากาศ หรือกากพิษอุตสาหกรรม เป็นผู้ควบคุมมลพิษที่มีหน้าที่
- พิจารณาตรวจสอบชนิด ประเภทของเชื้อเพลิง และวัตถุดิบต่าง ๆ ที่ใช้ในโรงงาน ประเมิน
- ตรวจสอบลักษณะของมลพิษ ประสิทธิภาพของระบบป้องกันสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษ
- ควบคุม ดูแล ปฏิบัติการตามแผนงานด้านสิ่งแวดล้อม คู่มือการจัดการสิ่งแวดล้อม และแผนการในกรณีฉุกเฉินของโรงงานให้มีประสิทธิภาพ
- ป้องกันไม่ให้มีการระบายมลพิษอย่างไม่ถูกวิธี หรือไม่ผ่านระบบป้องกันสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษ
- จัดทำรายงานการตรวจสอบ ควบคุม ดูแลการทำงานของระบบป้องกันสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษ ก่อนส่งให้ผู้จัดการสิ่งแวดล้อมพิจารณารับรอง
- จัดทำรายงานปริมาณสารมลพิษตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมกำหนด หรือใช้บริการจากห้องปฏิบัติการที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมรับรอง และส่งให้เจ้าของกิจการโรงงานทราบ และเก็บรักษารายงานเอาไว้
- เตรียมความพร้อมให้เจ้าหน้าที่ของกรมโรงงานตรวจสอบได้ตลอดเวลา
- ผู้ปฏิบัติงานประจำระบบป้องกันสิ่งแวดล้อม มีหน้าที่
- ปฏิบัติงานประจำเครื่องจักรที่เกี่ยวข้องของระบบป้องกันสิ่งแวดล้อม
- ตรวจสอบการทำงานของเครื่องจักรให้มีประสิทธิภาพอยู่ตลอดเวลา
- ควบคุม ดูแลให้ระบบดูแลสิ่งแวดล้อมทำงานได้ตลอดเวลาทำการ
- ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ควบคุมมลพิษ เพื่อป้องกันไม่ให้มลพิษแพร่กระจายไปสู่สิ่งแวดล้อม
- รายงานผลการปฏิบัติงานให้ผู้ควบคุมมลพิษทราบทันทีในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้น
- จัดทำรายงานผลการปฏิบัติการ ปัญหา และอุปสรรคที่พบในการจัดการระบบด้านสิ่งแวดล้อมให้ทราบ เพื่อนำข้อมูลไปปรับปรุง และแก้ไข
ซึ่งหากผู้ปฏิบัติงานในตำแหน่งเหล่านี้ไม่สามารถดำเนินการตามหน้าที่ที่กำหนดได้ จะต้องมีการระบุปัญหา และเหตุผลเป็นลายลักษณ์อักษร พร้อมรายงานให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมทราบภายใน 15 วันทำการ นับจากวันที่ไม่สามารถดำเนินการได้ หรือเมื่อไม่ประสงค์จะรับผิดชอบงานในระบบป้องกันสิ่งแวดล้อมของโรงงานนั้น ๆ แล้ว ต้องแจ้งให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมทราบล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรไม่น้อยกว่า 7 วัน ก่อนวันที่จะไม่รับผิดชอบงานดังกล่าว ยกเว้นผู้ปฏิบัติงานประจำระบบป้องกันสิ่งแวดล้อม